คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ 10 ของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยมีต้นกำเนิดมาจาก วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และได้พัฒนามาเป็นคณะแรกเริ่มแห่งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลดำเนินงานร่วมกับ วชิรพยาบาล, สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ที่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล
วชิรพยาบาล เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินพร้อมด้วยตึกและสิ่งปลูกสร้าง มอบไว้เป็นสาธารณสถานแก่ประชาชนให้เป็นที่พยาบาลผู้ป่วยไข้ต่อไป พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2455 พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า "วชิรพยาบาล"
วชิรพยาบาลได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งร่วมกันตั้งคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลขึ้นภายในโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ก่อตั้งขึ้นแห่งที่ 8 ของประเทศไทย นักศึกษาจะศึกษาภาคปรีคลินิคที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและศึกษาภาคคลินิคที่วชิรพยาบาล
ภายหลังกรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดที่จะเปิดโรงเรียนเป็นของตนเอง วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร จึงได้รับการก่อตั้งขึ้น ภายใต้สังกัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มาราคม 2536 วิทยาลัยแพทย์ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนักศึกษาจะได้ศึกษาระดับพรีคลินิคที่ มหาวิทยาลัยมหิดล กำกับดูแลโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในชั้นปีที่ 1 ถึง ภาดต้นของชั้นปีที่ 3 แล้วเข้ามาศึกษาระดับคลินิค ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ภาคปลาย ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล บัณฑิตแพทยศาสตร์จะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยมหิดล นับว่าเป็นคณะแพทย์แห่งที่ 3 ที่ได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
ในครั้งแรก วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครดำเนินการสอบรับนักศึกษา ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อกุมภาพันธ์ 2536 กรุงเทพมหานครประกาศเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 1 จำนวน 32 คน โดยมีผู้มาสมัครสอบคัดเลือกทั้งสิ้นถึง 936 คน ในปีการศึกษาต่อมาได้รับนักศึกษาผ่านการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินเช่นนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันได้รับนักศึกษาแพทย์เป็น 2 ระบบ โดยรับนักศึกษาผ่านระบบ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ทั่วประเทศ จำนวน 70 คน โดยมีการสอบวิชาสามัญและวิชาเฉพาะแพทย์ และรับนักศึกษาผ่านระบบโควต้าตรง จำนวน 10 คน โดยทางคณะเป็นผู้จัดสอบเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ โดยได้รวม "วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร" และ "วชิรพยาบาล" เข้าเป็นหน่วยราชการเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล" (วพบ.) ทำให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับการบริหารจากวชิรพยาบาลโดยตรง ในเวลานี้วชิรพยาบาลได้มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากนักศึกษา 32 คนในรุ่นแรก ได้รับนักศึกษาเพิ่มเป็น 50 คน จนกระทั่ง พ.ศ. 2547 ได้รับนักศึกษารุ่นละ 80 คนเป็นต้นมา
จากนั้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ทางวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ร่วมกับ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลในสังกัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้นมา ในนาม มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ทำให้วิทยาลัยมีสถานะเป็นคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อคณะเป็น "คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร" ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ใน วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ในเดือนพฤศจิกายนได้ขอพระราชทานนามมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช”
ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลเปิดทั้งหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางและแพทย์เฉพาะอนุสาขาต่างๆอีกหลายสาขา ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต วชิรพยาบาลรับนักศึกษาประมาณ 80 คนต่อปี จะมีการแบ่งการเรียนการสอนเป็น 3 ช่วง
จะศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา วิชาที่เรียนจะประกอบด้วย biology, chemistry, organic chemistry, calculus, statistics, physics แล้วมีวิชาทางภาษานั่นคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและวิชาศึกษาทั่วไป (MUGE) นอกจากนี้ในการชั้นปีที่ 1 ที่นี่จะมีวิชา pre-clinic ด้วย 1 วิชานั่นคือ Biochemistry ซึ่งต่างจากโรงเรียนแพทย์แห่งอื่นซึ่งจะศึกษาในปี 2 การเรียนปี 1 นี้นักศึกษาจะได้เรียนร่วมกับนักศึกษาคณะอื่นๆของมหาวิทยาลัย รวมถึง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กลุ่มนักศึกษาแพทย์สถาบันพระบรมราชชนก คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นการศึกษาระดับ pre-clinic จะศึกษาวิชาแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่นวิชา anatomy, physiology, pharmacology ศึกษาที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท การที่ได้เรียนกับคณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาจะได้รับแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำไปสู่ ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัย และการพัฒนาศาสตร์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
นักศึกษาจะเรียนระดับ pre-clinic ช่วงสุดท้ายได้แก่ Immunology, Microbiology, Genetics และ Pathology และเข้าสู่การศึกษาระดับคลินิก ซึ่งศึกษาและฝึกอบรมที่วชิรพยาบาล สำหรับนักศึกษาปีที่ 6 (extern) จะมีการเรียนเสมือนการทำงานจริง ดูแลควบคุมโดยอาจารย์แพทย์และแพทย์ประจำบ้าน (residence) อย่างใกล้ชิด แล้วจะมีการศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลในสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครหลายๆแห่งด้วย
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มุ่งเน้นไปทางการให้บริการประชาชน (public service) โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง ดั่งเช่นกรุงเทพมหานคร โดยมีการจัดการเรียนการสอนแบบ Community-Based Learning : CBL (ใช้ชุมชนเป็นฐาน) มีการไปออกชุมชนอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นคณะแพทย์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่เปิดสอนวิชาเวชศาสตร์เขตเมือง (urban medicine) ซึ่งสอนที่เจาะจงในการแก้ปัญหาสุขภาพชาวเมืองโดยเฉพาะ เป็นการเข้าสู่การมุ่งเน้นในการผลิตแพทย์ที่ทำงานบริการประชาชนเขตเมื่องอย่างแท้จริง
สโมสรนักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาล เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมต่างๆของคณะ โดยส่วนมากจะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยคณะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกับคณะอื่นในมหาวิทยาลัยมหิดล หรือคณะแพทย์แห่งอื่นๆในประเทศไทย และกิจกรรมที่ทางคณะเข้าร่วม ซึ่งทางสโมสรจะเป็นผู้ติดต่อประสานงานและดำเนิดกิจกรรมต่างๆ
ค่ายเปิดเสื้อกาวน์ (Opengown Camp) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เข้ามาสัมผัสชีวิตการเรียนแพทย์ ชีวิตนักศึกษาแพทย์ การทำงานของแพทย์ ได้รู้จักความเป็นโรงเรียนแพทย์ รู้จักคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลมากขึ้น และที่สำคัญคือ ผู้เข้าร่วมโครงการค่ายเปิดเสื้อกาวน์จะสามารถค้นพบตนเองได้ว่า ตนเองนั้นชอบและรักวิชาชีพแพทย์หรือไม่ หรือมีความเหมาะสมในการเรียนแพทย์มากน้อยเพียงใด
กิจกรรมนี่จัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี โดยเริ่มรับสมัครนักเรียนตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค่ายเปิดเสื้อกาวน์เป็นค่ายที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดแห่งหนึ่ง มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากจากทั่วประเทศ และมีกระแสตอบรับทั้งก่อนและหลังการเข้าค่ายเป็นอย่างดี โดยในปี 2559 นี้ ค่ายเปิดเสื้อกาวน์ ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 แล้ว
กิจกรรมรับน้อง เป็นกิจกรรมที่ทางสโมสรจัดขึ้นให้นักศึกษาแพทย์ ขั้นปีที่ 1 ที่เข้ามาใหม่ เพื่อให้ได้รู้จักคณะและมหาวิทยาลัยมากขึ้น ให้ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่ๆ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง กิจกรรมรับน้องนี้รวมไปด้วยหลายๆกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนแรก ระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม
"แรกพบ-ทวิภพ" เป็นกิจกรรมแรกที่มีขึ้น เป็นการรวมตัวกับครั้งแรกของนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่1 จัดขึ้นให้นักศึกษาใหม่ได้รู้จักกัน และแนะนำให้รู้จักกับคณะและมหาวิทยาลัย กิจกรรมนี้จะจัดขึ้น 2 วัน ในวันแรกจัดขึ้นที่วชิรพยาบาล ให้ได้รู้จักกับคณะมากขึ้น และในวันที่ 2 จัดที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นการให้นักศึกษาได้รู้จักกับศาลายา เพื่อเตรียมพร้อมกับการศึกษาที่นี่ กิจกรรม "สอนน้องร้องเพลง" เป็นการสอนร้องเพลงคณะเพลงมหาวิทยาลัยและเพลงต่างๆ "ค่ายฉันจะไปเรียนหมอล่ะ" จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤกษภาคม เสริมสร้างความสัมพันธ์ในรุ่นและคณะนักศึกษา ในงานนี้นักศึกษาจะเข้าใจถึงความเป็น "นักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาล" อย่างแท้จริง และกิจกรรมสุดท้ายคือ "Conc day" (วันวิชาการ) เป็นวันแนะแนวการเรียนการสอน ในงานจะมีรุ่นพี่นักศึกษาแพทย์ถ่ายทอดและแนะนำวิธีการเรียนในมหาวิทยาลัย วิธีการอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมตัวสอบในทุกๆวิชา ให้นักศึกษาได้เตรียมพร้อมกับการเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว
จัดขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน และผู้สนใจ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ ได้เข้าชมคณะ ชมโรงพยาบาล ในงานนี้จะมีกิจกรรมต่างๆจัดขึ้นโดนคณะ ให้ผู้สนใจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อในวิชาชีพแพทย์มากขึ้น สัมผัสกับความเป็นโรงเรียนแพทย์ นอกจากนี้นักเรียนมัธยมยังสามารถปรึกษารับคำแนะนำจากรุ่นพี่นักศึกษา ในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย
เป็นกิจกรรมกีฬาที่จัดขึ้นระหว่างคณะแพทยศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัย คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรวมด้วย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และ กลุ่มนักศึกษาแพทยศาสตร์พระบรมราชชนก กิจกรรมนี่จัดขึ้นทุกปีโดยสองมหาวิทยาลัยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพการจัดงาน
กิจกรรมกีฬานี้จะจัดขึ้นเป็นการต้อนรับปีการศึกษาใหม่ทุกปี จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในช่วงปลายเดือนมีถุนายน ในงานนี้จะมีการแข่งเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หรือว่า "freshy" ซึ่งเป็นนักศึกษาส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัย นอกจากกิจกรรมกีฬาแล้วจะมีกิจกรรมประกวดสแตนด์เฟรชชี่ด้วย
จัดขึ้นโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) เป็นกิจกรรมกีฬาที่รวมตัวโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งในประเทศ จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนตุลาคม
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล_มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช